Tuesday, August 26, 2008

Amber Earrings : My Birthday Gift

วันคล้ายวันเกิดปีนี้ ได้ของขวัญมากมายหลายชิ้น (มากๆ) จากเพื่อนๆ ที่น่ารักที่เบอร์มิงแฮม มีชิ้นหนึ่งเป็นต่างหูอำพันสีเขียวกระจุ๋มกระจิ๋ม ซึ่งพี่นกสุดสวยเป็นคนมอบให้ ต่างหูคู่นี้ตัวเรือนเป็นเงินสเตอร์ลิง 925 (Sterling Silver) ส่วนพลอยรูปไข่เป็นอำพันสีเขียวเข้ม น่ารักมากๆ ขอบคุณนะคะพี่นก ชอบมากเลยค่ะ

พอได้รับกล่องของขวัญวันเกิดจากพี่นก หลังจากแกะห่อของขวัญออก แว่บแรกที่เห็นต่างหูคู่นี้ พาลให้นึกถึงเหตุการณ์หนึ่งที่กรุงลอนดอน ขณะที่มีชายหนุ่มคนหนึ่งกำลังสาธิตสมบัติการเกิดไฟฟ้าสถิตของอำพัน โดยถูอำพันก้อนหนึ่งบนผ้ากำมะหยี่สักพัก แล้วพยายามหาเศษอะไรที่เบาๆ เพื่อจะสาธิตว่าอำพันดูดเศษเบาๆ นี่ได้ เขาคงหาเศษเบาๆ ไม่ได้ เลยยื่นก้อนอำพันมาดูดที่ผมของฉัน ณ เวลานั้นแอบตกใจเล็กๆ และตื่นเต้นมากหน่อย -_-‘

ไม่ใช่ว่าตื่นเต้นลุ้นไปกับเขาว่าอำพันจะดูดผมฉันติดหรือเปล่า แต่แอบตื่นเต้นตกใจกับการที่ได้ยืนอยู่ใกล้ๆ กับคนที่ฉันแอบปลื้ม ใกล้ขนาดที่ว่ารู้สึกถึงเสียงลมหายใจเบาๆ ของเขา แอบปลื้มในที่นี้เพราะเขาเป็นคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้ฉันรู้สึกสนใจและชอบในเรื่องของ senso-aesthetic materials ตอนที่เขาถูอำพันบนผ้าครั้งแรกอำพันดูดผมฉันไม่ติด เขาหน้าเจื่อนเล็กน้อย แล้วถูใหม่อีกรอบ ครั้งนี้อิเล็กตรอนคงวิ่งจากผ้ากำมะหยี่เข้าไปในเนื้ออำพันมากหน่อย ก็เลยดูดผมฉันติด สมบัติที่ว่านี้เป็นลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของอำพัน

หากใครเชื่อเรื่องอัญมณีเสริมดวง อำพันเป็นพลอยประจำคนเกิดวันจันทร์เนื่องจากโดยปกติอำพันมีสีเหลืองทอง ส่วนพลอยสีเขียวเป็นพลอยที่ช่วยเสริมความมีเดช มีอำนาจให้กับคนเกิดวันจันทร์ ดังนั้นหากคนที่สวมเครื่องประดับอำพันสีเขียว ก็จะช่วยเสริมโฉลกให้เป็นศรี เดช และมีอำนาจ

นึกถึงอำพันและของขวัญวันเกิดที่ได้ เลยพาลให้ฉันอยากเขียนถึงอำพันขึ้นมา เลยอยากจะเขียนเรื่องอำพันให้อ่านสักเล็กน้อย เผื่อมีใครที่กำลังมองหาอำพันไว้เป็นของขวัญให้เพื่อน คนพิเศษ หรือแม้กระทั่งเป็นของขวัญให้ตัวเอง จะได้อ่านไว้เป็นความรู้กันบ้าง หรือใครที่อยากจะหาอำพันไว้ทดสอบสมบัติไฟฟ้าสถิต ก็ดูน่าสนุกไม่เบา ^__^

อำพัน (Amber) เกิดจากยางไม้หรือยางสนที่แข็งตัวจนกลายเป็นหิน มีซากดึกดำบรรพ์อยู่ภายใน มีอายุหลายล้านปี ปกติจะมีสีเหลือง ส้ม น้ำตาลส้ม หรือน้ำตาลแดงซึ่งเป็นสีที่นิยมมาก จึงเป็นที่มาในการเรียกสีน้ำตาลแดงว่า ‘สีแดงอำพัน’ นอกจากนี้ยังพบอำพันที่มีสีเขียว ถึงเขียวอมน้ำเงินอีกด้วย พบอำพันครั้งแรกแถบทะเลบอลติก โดยพบที่ริมฝั่งทะเล และลอยอยู่กลางทะเล สาเหตุที่อำพันลอยน้ำทะเลได้เนื่องจากอำพันมีความถ่วงจำเพาะต่ำมาก เพียง 1.05 ถึง 1.10 เท่านั้น อำพันสามารถลอยในน้ำทะเลได้ แต่จะจมในน้ำธรรมดา เนื่องจากน้ำมีความถ่วงจำเพาะเพียง 1 เท่านั้น ส่วนน้ำเกลือมีความถ่วงจำเพาะสูงกว่า คือ 1.15

อำพันธรรมชาติหรืออำพันแท้จะมีซากแมลง ใบไม้ เปลือกไม้อยู่ภายใน โดยลักษณะของแมลงภายในอำพันธรรมชาติจะมีลักษณะกำลังตะเกียกตะกายเอาชีวิตรอด ซึ่งจะไม่พบในอำพันเลียนแบบ อำพันเลียนแบบจะทำจากพลาสติกหรือหินจากยางไม้ชนิดอื่นพวกยางไม้ชัน (Copal*) หินจากยางไม้ชัน (copal) สามารถลอยน้ำทะเลได้เช่นเดียวกับอำพันแท้ เนื่องจากมีความถ่วงจำเพาะต่ำใกล้เคียงกับอำพันแท้ คือ 1.03 – 1.08 Copal ทั่วๆ ไปจะเบากว่าอำพันแท้เล็กน้อย

อำพันสามารถเรืองแสงได้ภายใต้แสงยูวี (Ultraviolet) โดยจะเรืองแสงได้แสงสีเหลือง น้ำเงิน เขียว หรือส้ม อำพันเรืองแสงได้เนื่องจากปริมาณซัลเฟอร์ที่อยู่ในเนื้อหินนั่นเอง โดยอำพันจะเรืองแสงสีเข้มหากอำพันนั้นมีปริมาณซัลเฟอร์อยู่ภายในเนื้อมาก นอกจากนี้ถ้าถูอำพันบนผ้าที่ทำจากขนสัตว์หรือผ้ากำมะหยี่ อำพันจะเกิดไฟฟ้าสถิตขึ้นจากการถ่ายเทอิเล็กตรอนจากผ้าไปยังอำพัน ทำให้อำพันสามารถดูดวัสดุเบาๆ ได้

วิธีตรวจสอบอำพันว่า “แท้” หรือ “เทียม” ?

วิธีที่ 1 ใช้อะซีโตนหรือน้ำยาล้างเล็บ หยดลงบนผิวอำพัน ถ้าเป็นอำพันแท้ ผิวอำพันจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเป็นอำพันเทียมที่ทำจากยางไม้ชันหรือพลาสติกจะไม่สามารถทนสารเคมีพวกนี้ได้

วิธีที่ 2 อำพันแท้จะไม่ละลายเมื่อโดนความร้อน แต่จะให้กลิ่นไหม้ที่หอมคล้ายกำยานหรือพวกเครื่องหอม และให้ควันสีดำ ส่วนอำพันปลอมพวก copal หรือพลาสติกเมื่อโดนความร้อนจะหลอมละลายให้กลิ่นสารเคมีที่เหม็นฉุน โดยควันของ copal จะมีสีขาว และควันของพลาสติกจะมีสีดำ

วิธีที่ 3 อำพันแท้และ copal สามารถลอยในน้ำเกลือ เนื่องจากมีความถ่วงจำเพาะต่ำกว่าน้ำเกลือ ส่วนพลาสติกที่ใช้ทำอำพันเลียนแบบจะจมในน้ำเกลือ เพราะพลาสติกส่วนใหญ่จะมีความถ่วงจำเพาะสูงกว่าน้ำเกลือ

วิธีที่ 4 อำพันแท้จะเรืองแสงภายใต้แสงยูวี ส่วน copal จะไม่เรืองแสง

วิธีที่ 5 อำพันแท้มีความแข็งตามสเกลโมห์ (Moh’s scale) ประมาณ 2.5 ส่วน copal มีความแข็งประมาณ 1.5 เล็บของคนเรามีความแข็งประมาณ 2 ดังนั้นเล็บจะขีด copal เป็นรอยได้ ในขณะที่อำพันแท้จะไม่เป็นรอยหากขีดด้วยเล็บ

-----------------------------------------------------------------------
*Copal เป็นยางไม้ที่มีอายุน้อยกว่าอำพันมาก มีอายุเพียงร้อยกว่าปีเท่านั้น เรียก Copal ว่า 'Young Amber'
ขอบคุณ: http://www.materialslibrary.org.uk/

No comments: